Article / Periorbital Surgery

ดวงตาดูไม่สดใส เพราะ 3 สาเหตุนี้

30 มกราคม 2566 | โดย Dr.Hope
Share

ดวงตาดูไม่สดใส ดูอ่อนเพลีย ง่วง เหนื่อยล้า ทั้ง ๆ ที่พักผ่อนเพียงพอแล้ว ปัญหานี้เกิดจากอะไร แก้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้ครับ

สวัสดีครับผมหมอโฮป นายแพทย์อธิคม ถนัดพจนามาตย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง กับแชนแนล Dr.hope plastic surgery ช่องที่ตั้งใจจะเผยแพร่ความรู้และความจริงในเรื่อง ศัลยกรรมตกแต่ง ครับ

ดวงตาไม่สดใส

มีหลายคนถามเข้ามาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องดวงตาที่ดูไม่สดใส ดูอ่อนเพลีย ดูเป็นคนที่ง่วงหรือเหนื่อยล้าตลอดเวลา ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อบุคลิกภาพ การเข้าสังคม หรือต่อหน้าที่การงาน โดยคนที่มีปัญหานี้จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่อ่อนเพลีย ง่วง หรือเหนื่อยล้าจริงๆ ซึ่งทางแก้ปัญหาของกลุ่มนี้คือการจัดสรรเวลาใหม่เพื่อให้สามารถพักผ่อนได้เพียงพอ ซึ่งผมจะไม่ได้พูดถึงในบทความนี้ครับ
  2. อีกกลุ่มคือผู้ที่พักผ่อนเพียงพออยู่แล้ว กินอาหารดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ก็ยังมีปัญหานี้อยู่ คือไม่ได้ง่วง ไม่ได้เหนื่อยล้าจริงๆ แต่ลักษณะของดวงตามันดูเป็นอย่างนั้น ซึ่งกรณีนี้การทำศัลยกรรมตกแต่งจะสามารถช่วยแก้ไขได้ครับ

ปัญหาเรื่องดวงตาที่”ดู”ไม่สดใส “ดู”อ่อนเพลีย ผมเน้นที่คำว่า”ดู”นะครับ ปัญหานี้เกิดจากการที่เรา”ดู”ตัวเองในกระจก หรือคนอื่นมอง”ดู”เราแล้วรู้สึกอย่างนั้น ความรู้สึกแบบนั้นเกิดจากการที่ไม่สามารถมองเห็นตาดำได้เต็มที่นั่นเองครับ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มองเห็นตาดำได้ไม่เต็มที่มีอยู่ 3 สาเหตุ ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป แต่ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าโดยปกติคนเราควรเห็นตาดำแค่ไหน วิธีการตรวจมีอยู่ 2 วิธี

  1. วิธีแรกดูว่าหนังตาบนคลุมตาดำมากแค่ไหน โดยปกติหนังตาบนจะคลุมตาดำประมาณ 1 มิลลิเมตร ถ้าคลุมลงมามากกว่านี้ก็จะดูไม่สดใสดูง่วง
  2. กับอีกวิธีใช้การวัดระยะจากจุดที่มีแสงสะท้อนตรงตาดำขึ้นไปที่ขอบตาบน เรียกว่า MRD1 หรือ marginal light reflex distance 1 ซึ่งปกติจะมีระยะประมาณ 4 มิลลิเมตร ถ้าน้อยกว่านี้ก็จะดูง่วง ดูไม่สดใส

วิธีการตรวจโรคหนังตาตก

วิธีการตรวจ 2 วิธีนี้เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหนังตาตกหรือ blepharoptosis หรือไม่ ขอแทรกตรงนี้นิดนึงครับ เรื่องโรคหนังตาตก หนังตาหย่อน กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงผมเคยได้ทำคลิปอธิบายความแตกต่างเอาไว้แล้ว อยากให้ลองไปดูกันด้วยนะครับจะได้เข้าใจมากขึ้น กลับมาที่เรื่องการตรวจครับ การตรวจ 2 วิธีที่บอกไปเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคหนังตาตกก็จริง แต่..ในบางคนอาจจะไม่ได้เป็นโรคหนังตาตกหรือ bepharoptosis หรือที่ชอบเรียกกันว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงก็ได้ครับ ฟังดูแล้วอาจจะงง ไม่เป็นไรครับ เรามาพูดถึง 3 สาเหตุที่ทำให้ดวงตาดูไม่สดใส ดูอ่อนเพลีย ง่วง เหนื่อยล้า กันก่อนดีกว่าครับแล้วจะเข้าใจทั้งหมดเอง

หนังตาตก 

สาเหตุที่ 1 หนังตาตก หรือ blepharoptosis หรือที่ชอบเรียกกันว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง สาเหตุนี้เป็นเรื่องตรงไปตรงมาครับ ก็คือการที่หนังตาลงมาคลุมตาดำมากกว่าปกติซึ่งดูได้จากการตรวจ 2 วิธีที่ผมได้อธิบายไป หลักการในการแก้ไขในกรณีนี้จะต้องทำโดยการเข้าไปทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเปิดตานั้นหดสั้นลงซึ่งวิธีการนั้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับของการตกและการทำงานของกล้ามเนื้อตา ผมเรียกรวมๆว่าการแก้หลังตาตกนะครับ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยมักเรียกว่าการแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะเรียกยังไงก็ได้ความหมายเดียวกันครับ

หนังตาหย่อน

หนังตาหย่อน

สาเหตุที่ 2 หนังตาหย่อน หรือ blepharochalasia ซึ่งไม่เหมือนและไม่ใช่หนังตาตกนะครับ ตรงนี้ฟังดีๆนะครับ หรือถ้าอยากเข้าใจมากขึ้นไปฟังคลิปเรื่อง โรคหนังตาหย่อน หนังตาตก (คลิกเพื่อรับชม) อีกครั้งนะครับ หนังตาหย่อนคือหนังตามีการยืดหย่อนตัวลงมา ซึ่งในคนที่เป็นมากๆ หนังตาที่หย่อนจะลงมาบังตาดำทำให้ดูเหมือนเป็นหนังตาตกได้ครับ กับอีกกรณีมีการหย่อนตัวของไขมันลงมาด้วยทำให้น้ำหนักที่หนังตาเพิ่มมากขึ้นแล้วทำให้มีอาการของหนังตาตกเกิดขึ้นได้ ซึ่งเมื่อทำการตัดหนังตาที่หย่อนและไขมันออกตาก็จะเปิดได้ปกติครับ หลักการในการแก้ไขหนังตาหย่อนคือการตัดหนังตาและไขมันบางส่วนครับ

คิ้วตก

คิ้วตก

สาเหตุที่ 3 คิ้วตก ปัญหาเรื่องคิ้วเป็นปัญหาที่มักถูกมองข้าม มักมองปัญหาอยู่แค่บริเวณหนังตาเท่านั้น และนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี เช่น ชั้นตาเข้าไปชิดคิ้วมากขึ้น มีหนังย่นบริเวณหางตา แผลเป็นยาวออกมาด้านข้างมองเห็นได้ชัด หางตาเป็น 2 แฉก เป็นต้น โดยหลักการในการแก้ไขก็คือการยกคิ้ว ซึ่งวิธีที่นิยมทำในปัจจุบันคือใช้การส่องกล้องช่วยในการยกคิ้วเนื่องจากสามารถซ่อนแผลเป็นได้ดีครับ

ทั้งหมดนี้เป็น 3 สาเหตุ ที่ทำให้ตาดูไม่สดใส ดูอ่อนเพลีย ง่วง เหนื่อยล้า ในการผ่าตัดแก้ไขจะต้องตรวจร่างกายก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คืออาจมีหลายๆสาเหตุเกิดร่วมกัน และบางสาเหตุอาจทำให้มีอาการของสาเหตุอื่นด้วยได้ ในการแก้ไขสิ่งแรกที่ต้องตรวจให้ได้คือมีหนังตาตกจริง ๆ หรือไม่ ในบางคนดูเหมือนมีอาการหนังตาตก แต่แท้จริงแล้วอาการหนังตาตกนั้นเกิดจากคิ้วที่ตกลงมาหรือไขมันที่หย่อนตัวลงมาทำให้มีน้ำหนักที่หนังตามากขึ้นแล้วมีอาการเหมือนหนังตาตกได้ การตรวจทำได้โดยดันคิ้วขึ้นด้านบนแล้วดูว่ายังมีอาการหนังตาตกอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีแสดงว่าเป็นหนังตาตกจริง ถ้าไม่มีอาการแสดงว่าไม่ได้เป็นหนังตาตกครับ เมื่อทราบแล้วว่าสาเหตุของปัญหามีอะไรบ้าง ก็จะทำการแก้ไขโดยเรียงลำดับตามนี้คือ แก้หนังตาตกก่อน เมื่อเข้าที่ดีแล้วจึงไปแก้คิ้วตกโดยการยกคิ้ว และแก้ไขหนังตาหย่อนเป็นลำดับสุดท้ายครับ สิ่งที่ต้องระวังในการแก้ไขปัญหาหนังตาที่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือ ก่อนจะทำอะไรกับหนังตาต้องดูคิ้วด้วยเสมอครับ

ถ้าอยากให้ผมทำคลิปอะไรแนะนำกันมาได้นะครับ ถ้าต้องการให้ผมประเมินแนวทางการทำศัลยกรรม มีปัญหาเรื่องของการทำศัลยกรรมทุก ๆ เรื่อง สนใจอยากทำศัลยกรรม อยากได้คำปรึกษา ส่งรูปมาให้ผมช่วยประเมินใน line official ที่ @dr.hope ได้นะครับ

ดูคลิป ดวงตาดูไม่สดใส เพราะ3สาเหตุนี้