Article / Facial Contouring

โหนกแก้มยุบจากอุบัติเหตุแก้ไขได้หรือไม่

21 เมษายน 2565 | โดย Dr.Hope
Share

โหนกแก้มยุบจากอุบัติเหตุแก้ไขได้หรือไม่ บทความนี้มีคำตอบครับ

สวัสดีครับผมหมอโฮป นายแพทย์อธิคม ถนัดพจนามาตย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง กับ channel Dr.hope plastic surgery กับความรู้และความจริงในเรื่องศัลยกรรมตกแต่งครับ

มีหลายคนถามผมมาเกี่ยวกับเรื่องโหนกแก้มยุบจากอุบัติเหตุ ว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เนื่องจากมีปัญหาหลายอย่างตามมา

การเกิดอุบัติเหตุที่มีการกระทบกระแทกบริเวณใบหน้ามักทำให้เกิดโหนกแก้มหักได้ค่อนข้างบ่อยเนื่องจากกระดูกโหนกแก้มเป็นส่วนที่นูนออกมาทำให้มีโอกาสที่จะถูกกระแทกบริเวณนี้สูง

กระดูกโหนกแก้มนี้เรียกว่ากระดูก zygoma

กระดูกโหนกแก้มนี้เรียกว่ากระดูก zygoma ซึ่งก็คือกระดูกชิ้นสีชมพูในรูปครับ ซึ่งกระดูกนี้เป็นส่วนประกอบของเบ้าตาด้านข้างและด้านล่าง และเป็นส่วนประกอบของโพรงไซนัสที่แก้ม ซึ่งเมื่อแตกหักมักจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น มองเห็นภาพซ้อน กลอกตาไปมาได้ลดลงทำให้จำกัดการมองเห็น ลูกตาเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม ไปกดเบียดกรามล่างทำให้อ้าปากได้ไม่เต็มที่ หางตาตก และใบหน้ายุบ

การแก้ไขกระดูกโหนกแก้มหรือ zygoma หัก ยุบ ควรรีบทำหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้กระดูกที่ยุบตัวจะเกิดการสมานตัวในตำแหน่งที่ผิดทำให้แก้ไขได้ยาก ซึ่งไม่ควรเกิน 3 สัปดาห์ หลังจากเกิดอุบัติเหตุ มีศัลยแพทย์ตกแต่งหลายท่าน รวมถึงตัวผมเองด้วย มักจะไม่รีบผ่าตัดหลังอุบัติเหตุในทันที เนื่องจากใบหน้ายังบวมมากอยู่ ทำให้การผ่าตัดทำได้ลำบาก โดยมักจะรอให้ยุบบวมลงบ้างประมาณ 1 สัปดาห์หลังอุบัติเหตุครับ

แต่ก็มีคนไข้บางส่วนที่ไม่ได้รับการผ่าตัดกระดูกโหนกแก้มในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วเกิดปัญหาตามมา สาเหตุที่ไม่ได้รับการผ่าตัดในระยะเวลาที่เหมาะสมมักไม่ได้เกิดจากการละเลยของแพทย์ครับ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากความไม่พร้อมด้านร่างกายของคนไข้ เนื่องจากอุบัติเหตุที่มีการกระทบกระเทือนที่ใบหน้า มักมีการกระทบกระเทือนที่สมองด้วย หรือในบางคนก็บาดเจ็บในส่วนอื่น ๆของร่างกายด้วย ทำให้สภาพร่างกายไม่เหมาะสมและมีความเสี่ยงในการดมยาสลบเพื่อผ่าตัดครับ การที่โหนกแก้มยุบแล้วไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขในระยะเวลาที่เหมาะสมได้การแก้ไขในภายหลังก็จะยากขึ้นครับ โดยวิธีการแก้ไขสามารถทำได้หลายแนวทางครับ

  • แนวทางที่ 1 คือการทำให้กระดูกที่ยุบตัวลงไปกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยจะต้องทำให้กระดูกส่วนนั้นหักอีกครั้ง จัดตำแหน่งใหม่ให้เข้าที่แล้วยึดกระดูกเอาไว้ด้วยเพลทและสกรู อาจจะต้องมีการสร้างกระดูกเบ้าตาขึ้นใหม่จากแผ่นไททาเนียมหรือกระดูกซี่โครง ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่และยากมาก แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุครับ
  • แนวทางที่ 2 คือการใช้วัสดุเสริมเข้าไป เช่น ไทเทเนี่ยม ซิลิโคน อคริลิค เสริมเข้าไปบนกระดูกที่ยุบตัวลงไป โดยจะต้องใช้การทำ CT scan และสร้างวัสดุสำหรับเสริมขึ้นมา ซึ่งวิธีนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่เช่นกัน
  • แนวทางที่ 3 คือการทำให้เนื้อเยื่ออ่อนหนาตัวขึ้น ทดแทนกระดูกส่วนที่ยุบ สามารถใช้ได้ทั้งฟิลเลอร์ฉีดเข้าไปทดแทนส่วนที่ยุบตัว ข้อดีคือกะปริมาณได้ง่าย แต่ผลก็ไม่ถาวร หรือใช้การการฉีดไขมันตัวเองเข้าไป แต่มักมีปัญหาการสลายตัวของไขมัน แต่ส่วนที่ไม่สลายตัวจะอยู่อย่างถาวร ทำให้อาจจะต้องมาฉีดซ้ำหลายครั้งจนกว่าจะพอใจ แต่แนวทางนี้ไม่สามารถแก้ไขภายในเบ้าตาได้ และเนื้อเยื่อที่หนาตัวขึ้นก็จะหย่อนคล้อยได้ง่ายกว่าอีกข้างที่เนื้อเยื่ออ่อนบางกว่าครับ

การแก้ไขใบหน้าที่ผิดรูปไปจากอุบัติเหตุ รวมถึงการแก้ไขกระดูกโครงหน้า เป็นงานที่ค่อนข้างซับซ้อน และวิธีการแก้ไขในคนไข้แต่ละคนก็มีวิธีที่เหมาะสมแตกต่างกันไปครับ สุดท้ายนี้อยากจะแนะนำทุกคนว่าอย่าลืมศึกษาหาความรู้ก่อนทำศัลยกรรมทุกชนิด วิธีที่ดีที่สุดคือการปรึกษาแพทย์ผู้ที่เชี่ยวชาญ จะได้ปลอดภัย และได้ผลที่ดีที่สุดในการทำศัลยกรรมครับ

ถ้าอยากให้ผมทำคลิปอะไรแนะนำกันมาได้นะครับ ถ้าต้องการให้ผมประเมินแนวทางการทำศัลยกรรม มีปัญหาเรื่องของการทำศัลยกรรมทุก ๆเรื่อง สนใจอยากทำศัลยกรรม อยากได้คำปรึกษา ส่งรูปมาให้ผมช่วยประเมินใน line official ที่ @dr.hope ได้นะครับ

ดูคลิป โหนกแก้มยุบจากอุบัติเหตุ แก้ไขได้หรือไม่?