Article / Structural Rhinoplasty

เสริมจมูกรองปลาย เนื้อก้นกบ กับกระดูกอ่อนหลังหู อะไรดีกว่ากัน ตอบด้วยงานวิจัย

14 สิงหาคม 2564 | โดย Dr.Hope
Share

เสริมจมูก รองปลายด้วยเนื้อก้นกบ เสริมจมูกรองปลายด้วยกระดูกอ่อนหลังหู เลือกแบบไหนดี วิธีไหนดีกว่ากัน มาหาคำตอบจากงานวิจัยกันครับ

สวัสดีครับ หมอโฮป นพ.อธิคม ถนัดพจนามาตย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง กับ Channel Doctor Hope Plastic Surgery กับความรู้และความจริงในเรื่องศัลยกรรมตกแต่งครับ

รองปลายซิลิโคนด้วยเนื้อก้นกบและกระดูกอ่อนหลังหู

เทคนิคการเสริมจมูก ด้วยการรองปลายซิลิโคนด้วยเนื้อก้นกบและกระดูกอ่อนหลังหู เป็นวิธีที่ได้ยินกันมากในปัจจุบันครับ เนื่องจากว่าในอดีตมักจะพบปัญหาปลายจมูกบางหรือทะลุจากการเสริมจมูกด้วยซิลิโคนอย่างเดียว ทำให้ในปัจจุบันมีการเอาเนื้อเยื่อต่าง ๆ มารองปลายซิลิโคนกันมากขึ้น ทั้งเนื้อก้นกบ กระดูกอ่อนหลังหู และเนื้อเยื่อเทียม เรื่องของเนื้อเยื่อเทียมผมเคยทำคลิปไปแล้วนะครับ 

ซึ่งเนื้อเยื่อเทียมมีคุณสมบัติเหมือนกับเนื้อก้นกบ ต่างกันที่เนื้อเยื่อเทียมเอามาจากคนอื่น ดังนั้นในบทความนี้ผมจะไม่ลงรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเทียมนะครับ แต่ถ้าใครคิดจะใช้เนื้อเยื่อเทียมก็สามารถเอาข้อมูลของเรื่องเนื้อก้นกบไปใช้ได้ครับ

เสริมจมูก รองปลาย แบบไหนดีกว่ากัน ?

สิ่งที่หลาย ๆ คนสงสัยและเกิดคำถามขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ ใช้อะไรดีกว่ากัน ใช้แล้วจะสลายไปไหม ใช้แล้วจะไม่ทะลุเลยใช่ไหม จากข้อสงสัยเหล่านี้ในคลิปนี้ผมจะแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ประเด็น คือ

  1. เรื่องของอัตราการสลายตัวของเนื้อก้นกบ
  2. อัตราการสลายตัวของกระดูกอ่อน
  3. เรื่องของการใช้ซิลิโคนเสริมจมูกที่ยาวถึงปลายจมูก ข้อมูลทั้งหมดที่ผมจะพูดอ้างอิงจากงานวิจัยทั้งหมดครับ

เรื่องที่ 1 อัตราการสลายตัวของเนื้อก้นกบ

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนนะครับว่าเนื้อก้นกบคืออะไร เพราะมีหลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าเอากระดูกตรงก้นกบมาใช้ เนื้อก้นกบที่เอามาใช้ในการเสริมจมูกเป็นเนื้อชั้นหนังแท้ที่ติดไขมันใต้ผิวหนังมาเล็กน้อยครับ เรียกว่า dermofat graft หรือ dermal fat graft คำว่า dermo หรือ dermal แปลว่าหนังแท้ (dermo/dermal = หนังแท้) ส่วน fat ก็คือไขมัน (fat=ไขมัน) ครับ

ดังนั้นมันไม่มีกระดูกนะครับ เนื้อก้นกบหน้าตาเป็นแบบนี้ครับ

เนื้อก้นกบ

แล้วทำไมถึงต้องเอาเนื้อตรงก้นกบ สาเหตุก็คือชั้นหนังแท้บริเวณนี้หนากว่าส่วนอื่นๆ ในร่างกายครับ

 

มาดูข้อมูลงานวิจัยเรื่องการใช้เนื้อก้นกบมาเสริมจมูกครับ ข้อมูลที่ค้นได้จะเป็นการเสริมสันจมูกด้วยเนื้อก้นกบครับ ถึงข้อมูลเหล่านี้จะไม่ตรงกับเรื่องการเอามารองปลายซิลิโคน แต่ก็มีส่วนที่น่าสนใจและต้องรู้ครับ นั่นก็คืออัตราการสลายตัวของเนื้อก้นกบ

อัตราการสลายตัวของเนื้อก้นกบ

ในบทความเรื่องการเสริมสันจมูกด้วยเนื้อเยื่อตัวเองของ Dr.Suh ได้พูดถึงเรื่องอัตราการสลายตัวของเนื้อก้นกบเอาไว้ว่า เนื้อก้นกบจะมีการสลายตัวบางส่วนไปเรื่อย ๆ ได้จนถึงเวลา 18 เดือน โดยอัตราการสลายตัวเกิดได้ตั้งแต่ 40-70% แล้วอัตราการสลายตัวที่ว่านี้วัดอย่างไร เมื่อค้นดูงานวิจัยที่นำมาอ้างอิง พบว่าเป็นการวัดปริมาตร หรือวัดความหนา

ความหนาของเนื้อก้นกบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป

ในงานวิจัยที่พูดถึงการวัดปริมาตรนั้นไม่ได้บอกวิธีชัดเจน แต่งานวิจัยที่ใช้วิธีวัดความหนา ได้ใช้วิธีการวัดด้วยเครื่อง ultrasound ว่าความหนาของเนื้อก้นกบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งค่อนข้างแม่นยำ โดยสรุปก็คืออัตราการสลายตัวของเนื้อก้นกบอยู่ที่ 40-70%(40-70%) โดยหมายถึงความหนาที่ลดลงครับ

เรื่องที่ 2 อัตราการสลายตัวของกระดูกอ่อน

กระดูกอ่อนที่ใช้ในการเสริมจมูกสามารถนำมาใช้ได้จาก 3 ที่ คือ ผนังกั้นจมูก ใบหู และซี่โครง การเอากระดูกอ่อนหลังหูมารองปลายซิลิโคนก็เป็นที่นิยมทำกันมากเพราะว่าสามารถเอาออกมาได้สะดวกกว่าส่วนอื่นครับ จริง ๆ แล้วจะเรียกว่ากระดูกอ่อนหลังหูก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าหลังใบหูไม่มีกระดูกอ่อน กระดูกอ่อนเป็นโครงของใบหูซึ่งการเปิดแผลเข้าไปตัดกระดูกอ่อนออกมาใช้มักจะเปิดแผลตรงร่องหลังใบหูเพื่อซ่อนแผลเป็น ก็เลยชอบเรียกกันผิด ๆ ว่ากระดูกอ่อนหลังใบหูครับ ซึ่งการเปิดแผลเพื่อเอากระดูกเอาใบหูจะเปิดจากด้านหน้าก็ได้เหมือนกันครับ

การใช้กระดูกอ่อนสับในการเสริมสันจมูก

เมื่อค้นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนของการใช้กระดูกอ่อนสับในการเสริมสันจมูก งานวิจัยนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ คือ

งานวิจัยเสริมจมูก

ทำ Systematic Review และ Meta-Analysis โดย Dr.Keyhan โดยข้อมูลเรื่องการใช้กระดูกอ่อนมีจากทุกส่วน ทั้ง ผนังกั้นจมูก ใบหูและซี่โครง เมื่อดูข้อมูลในเรื่องอัตราการสลายตัว มีข้อมูลที่ได้จากงานวิจัย 12 งาน พบว่าอัตราการสลายตัวของกระดูกอ่อนอยู่ที่ 2.52% แบบนี้ก็น้อยกว่าการใช้เนื้อก้นกบน่ะสิ ตอบไม่ได้ครับ เพราะว่าใช้วิธีการวัดที่แตกต่างกัน เมื่อดูวิธีการวัดของงานวิจัย 12 งานนี้พบว่า เป็นการวัดโดยการตรวจร่างกายและการเปรียบเทียบรูปถ่ายในระยะเวลาต่าง ๆ หลังจากการผ่าตัด ซึ่งตัวเลข 2.52% เป็นอัตราการเกิดการสลายตัว หมายความว่าในคนไข้ 100 คน มีการสลายตัวประมาณ 2.5 คน คือเป็นการบอกว่าเกิดหรือไม่เกิด ไม่ได้เป็นการวัดความหนาที่ลดลงเหมือนในงานวิจัยเกี่ยวกับเนื้อก้นกบ

 

เรื่องที่ 3 เรื่องของการใช้ซิลิโคนเสริมจมูกที่ยาวถึงปลายจมูก

สังเกตกันไหมครับว่าทำไมถึงได้ยินเรื่องการเสริมจมูกด้วยเทคนิครองปลายด้วยเนื้อเยื่อต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ทำไมไม่ค่อยได้ยินเรื่องเทคนิครองสัน นั่นก็เพราะว่าซิลิโคนมักสร้างปัญหาที่ปลายจมูก ทั้งบางและทะลุ นั่นเองครับ หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย บอกว่าถ้าเสริมไม่เกินเนื้อรับได้ก็ไม่ทะลุหรอก ถูกต้องครับถ้าเสริมปลายด้วยซิลิโคนไม่มากเกินไปก็ไม่ทะลุ แต่อาจจะไม่ได้รูปทรงจมูกอย่างที่คนไข้ส่วนใหญ่ต้องการครับ

การใช้ซิลิโคนเสริมจมูกโดย Dr.Kim

จากบทความเรื่องการใช้ซิลิโคนเสริมจมูกโดย Dr.Kim ในปี 2018 ได้พูดถึงข้อเสีย 4 ข้อ ของการใช้ซิลิโคนรูปตัว L หรือแบบมีขา ไม่ว่าจะขายาวหรือขาสั้น หนึ่งใน 4 ข้อนั้น คือ มีความเสี่ยงต่อการทะลุ ทั้งที่ปลายจมูกและในรูจมูก เนื่องจากปลายซิลิโคนยาวจนสร้างแรงตึงให้กับผิวหนังที่ปลายจมูก ส่วนข้ออื่น ๆ จะเป็นเรื่องของลักษณะปลายจมูกที่ไม่เป็นธรรมชาติ ถามว่าอัตราการทะลุเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลในบทความนี้บอกว่าอยู่ที่ 0.48-50% แต่ไม่ได้ระบุว่าซิลิโคนที่ใช้นั้นมีรูปร่างอย่างไร

ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้วัสดุสังเคราะห์เสริมจมูก

มาต่อที่อีกบทความ เรื่องภาวะแทรกซ้อนจากการใช้วัสดุสังเคราะห์เสริมจมูกโดย Dr.Choi ในปี 2020 ซึ่งมีการรวบรวมอัตราการทะลุของซิลิโคนจากงานวิจัยหลาย ๆ งาน ผมได้ดูรายละเอียดของแต่ละงานพบว่า มีทั้งการใช้ซิลิโคนเสริมเฉพาะสันจมูกโดยไม่มีซิลิโคนที่ปลายจมูก ใช้ซิลิโคนแบบมีขาและแบบไม่มีขา

ซิลิโคนแบบมีขามีอัตราการทะลุ 10-19%

บางงานวิจัยไม่มีข้อมูลการติดตามคนไข้หลังผ่าตัด เมื่อคัดเลือกเฉพาะงานวิจัยที่มีข้อมูลการติดตามอาการคนไข้และมีการใช้ซิลิโคนยาวถึงปลายจมูก พบว่าซิลิโคนแบบมีขามีอัตราการทะลุ 10-19%

ต้องไม่ให้ซิลิโคนที่ปลายจมูกหนาเกินไป

แบบไม่มีขา 4% และผู้วิจัยให้ความเห็นที่ตรงกันว่าต้องไม่ให้ซิลิโคนที่ปลายจมูกหนาเกินไป ซึ่งพอสรุปได้ว่าการใช้ซิลิโคนยาวถึงปลายจมูกสามารถทำได้ถ้าเหลาหรือเลือกรูปร่างซิลิโคนที่พอดี ไม่เกิดแรงตึงที่ปลายจมูกมากเกินไป แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่คือ ข้อมูลนี้มีการติดตามอาการคนไข้นานที่สุดประมาณ 3 ปีกว่า สั้นที่สุด 6 เดือน ทำให้บอกไม่ได้ว่าถ้านานกว่านี้จะเป็นอย่างไรครับ และเรื่องทะลุเป็นเพียงแค่หนึ่งใน 4 ข้อเสีย ของการใช้ซิลิโคนที่ยาวมาถึงปลายจมูก ข้อเสีย อื่น ๆ อีก 3 ข้อ จะเกี่ยวกับเรื่องรูปทรง ก็คือ 1.หลังการเสริมมีโอกาสที่ปลายจมูกจะเชิดขึ้น 2.ปลายจมูกที่โด่งขึ้นไม่ได้สัดส่วนกับเนื้อโดยรอบทั้งเนื้อปลายจมูกเองและปีกจมูก และสุดท้ายคือปลายจมูกยุบตัวลง สันจมูกกระดกขึ้นเพราะซิลิโคนมีแรงกดที่ปลายจมูก เหมือนคานกระดกครับ

บทสรุปการเสริมจมูกด้วยเทคนิครองปลาย

สุดท้ายนี้ผมขอสรุปข้อมูลจากทั้ง 3 ประเด็น เรื่องการเสริมจมูกด้วยเทคนิครองปลายดังนี้ครับ

  1. เนื้อก้นกบมีอัตราการสลายตัว 40-70% ซึ่งเป็นตัวเลขของความหนาที่ลดลง
  2. การใช้กระดูกอ่อนทั้ง 3 ส่วน คือ ผนังกั้นจมูก ใบหูและซี่โครง รวม ๆ กันแล้ว มีอัตราการสลายตัว 2.52 % ซึ่งเป็นตัวเลขของจำนวนคนที่เกิดการสลายตัว
  3. การเสริมจมูกโดยซิลิโคนยาวถึงปลายจมูกไม่ว่าจะเป็นแบบมีขาหรือไม่มีขา มีโอกาสทะลุได้ 4-19% ขึ้นอยู่กับความตึงของเนื้อปลายจมูก โดยสัมพันธ์กับความหนาของซิลิโคนที่ปลายจมูก แต่ก็ไม่ทราบว่าถ้าเกิน 3 ปี ไปแล้วโอกาสทะลุจะมากกว่านี้หรือไม่ครับ
  4. ถึงแม้ว่าจะไม่ทะลุ การเสริมจมูกโดยมีซิลิโคนที่ปลายจมูก ไม่ว่าจะรองปลายหรือไม่ก็ตาม จะไม่ได้รูปร่างจมูกที่เป็นธรรมชาติ

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ลองตัดสินใจดูนะครับ ว่าการเสริมจมูกรองปลายด้วยเนื้อก้นกบหรือกระดูกหลังหู ดีหรือไม่ เหมาะกับคุณหรือไม่ครับ

ถ้าอยากให้ผมทำคลิปอะไรแนะนำกันมาได้นะครับ ถ้าต้องการให้ผมประเมินแนวทางการทำศัลยกรรม มีปัญหาเรื่องของการทำศัลยกรรมทุก ๆเรื่อง สนใจอยากทำศัลยกรรม อยากได้คำปรึกษา ส่งรูปมาให้ผมช่วยประเมินใน line official ที่ @dr.hope ได้นะครับ

ดูคลิป เสริมจมูกรองปลาย เนื้อก้นกบ กับกระดูกอ่อนหลังหู อะไรดีกว่ากัน