Article / Structural Rhinoplasty

5 ข้อควรรู้ เมื่อจมูกเกิดพังผืดหดรั้ง

13 กรกฎาคม 2564 | โดย Dr.Hope
Share

สิ่งที่คุณจะได้จากบทความนี้ คือ เข้าใจว่าพังผืดหดรั้งที่เกิดหลังการเสริมจมูกคืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อรูปทรงจมูก เกิดกับทุกคนหรือไม่ ถ้าเกิดแล้วจำเป็นต้องแก้ไหม และถ้าต้องแก้จะแก้ไขอย่างไรครับ?

สวัสดีครับ หมอโฮป นพ.อธิคม ถนัดพจนามาตย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง กับ Channel Doctor Hope Plastic Surgery กับความรู้และความจริงในเรื่องศัลยกรรมตกแต่งครับ

การเสริมจมูกเป็นการทำศัลยกรรมตกแต่งเสริมความงามที่นิยมทำกันมากเป็นอันดับต้นๆ ครับ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือมีการผ่าตัดแก้ไขมากเช่นกันครับ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ต้องแก้ไขก็คือ การเกิดพังผืดหดรั้งในจมูกครับ
ก่อนที่จะพูดถึง 5 ข้อควรรู้ เมื่อจมูกเกิดพังผืดหดรั้ง อยากให้ทำความเข้าใจความหมายของคำว่าพังผืดกันก่อนครับ

พังผืดคืออะไร ?

พังผืดคืออะไร

ความหมายของคำว่า พังผืดในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า พังผืด คือ เนื้อเยื่อเหนียวที่ยึดกล้ามเนื้อให้ติดกัน ซึ่งดูแล้วความหมายไม่ตรงกับสิ่งที่ผมจะพูดในบทความนี้เท่าไร

จากบทความวิจัยเรื่อง Contracted Nose after Silicone Implantation: A New Classification System and Treatment Algorithm โดย Yong Kyu Kim และคณะ เกี่ยวกับการหดรั้งของจมูกหลังการเสริมจมูกด้วยซิลิโคน พูดถึงสาเหตุว่าเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า Capsular Contracture

Capsular Contracture

แล้ว Capsular Contracture คืออะไร? จาก The American Heritage® Stedman's Medical Dictionary ในเวปไซต์ medical-dictionary.thefreedictionary.com ได้ให้ความหมายไว้ตามนี้ครับ ผมขอแปลเป็นภาษาไทยนะครับ ความหมายคือ เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อวัสดุแปลกปลอมที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ครับ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เนื้อเยื่อเหนียวที่ยึดกล้ามเนื้อให้ติดกันเลยครับ

เมื่อลองแปลคำว่า capsular contracture เป็นภาษาไทยด้วย google translate ก็แปลได้ว่า การหดตัวของแคปซูล แต่เมื่อดูจากหลาย ๆ เวปไซต์ก็มักจะแปลคำว่า capsular contracture กันว่า พังผืดหดรั้ง หรือพังผืดหดรัดกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อจากนี้ผมจะขอเรียกว่า capsular contracture ละกันนะครับ

5 ข้อควรรู้ เมื่อจมูกเกิดพังผืดหดรั้ง

1. Capsular Contracture คืออะไร

มาถึงข้อควรรู้ข้อที่ 1 Capsular contracture คืออะไร อย่างที่ได้พูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่า capsular contracture เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อวัสดุแปลกปลอมที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ โดยจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าแคปซูลขึ้นมาล้อมรอบวัสดุแปลกปลอมนั้น โดยส่วนประกอบของแคปซูลก็คือเส้นใยคอลลาเจนครับ

ส่วนประกอบของแคปซูลก็คือเส้นใยคอลลาเจน

เมื่อนำแคปซูลที่หดรั้งไปตรวจลักษณะเซลล์จะพบว่ามีลักษณะที่เหมือนกับที่พบในการอักเสบเรื้อรังและปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมครับ

2. Capsular contracture ส่งผลอย่างไรต่อรูปร่างจมูก

ข้อควรรู้ข้อที่ 2 Capsular contracture ส่งผลอย่างไรต่อรูปร่างจมูก การอธิบายการเกิด Capsular contracture เริ่มต้นมาจากการเสริมหน้าอกหรือเสริมเต้านมด้วยถุงซิลิโคน โดยแบ่งการเกิด capsular contracture ออกเป็น 4 ระดับ ตาม Baker scale ส่วนในจมูกที่เสริมด้วยซิลิโคนก็พบว่ามีการเกิด capsular contracture เช่นเดียวกัน ซึ่งในอดีตยังไม่ได้มีการแบ่งระดับเหมือนกับการเสริมเต้านม จนในปี ค.ศ.2017 ได้มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Plastic Surgery ได้แบ่งระดับ การเกิด capsular contracture ออกเป็น 4 ระดับเช่นกัน โดย

  • ระดับที่ 1 รูปร่างของจมูก สีของผิวหนัง ความแข็ง ความเรียบเนียนของจมูกไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • ระดับที่ 2 มีการหดรั้งเล็กน้อย เริ่มเห็นขอบของซิลิโคนจากภายนอกได้ แต่คนไข้ยังยอมรับรูปทรงของจมูกอยู่
  • ระดับที่ 3 มีการหดรั้งปานกลาง ซิลิโคนจะเอียง ร่วมกับผิวหนังแข็งขึ้นและไม่เรียบ

    การหดรั้งปานกลาง ซิลิโคนจะเอียง ร่วมกับผิวหนังแข็งขึ้นและไม่เรียบ

  • ระดับที่ 4 มีการหดรั้งรุนแรง จมูกหดสั้นลงและเห็นรูจมูกมากขึ้น หรือที่หลายๆคนเรียกว่าจมูกหมู

    จมูกหดสั้นลงและเห็นรูจมูกมากขึ้น

ดังนั้นถ้าเกิด Capsular contracture จะทำให้มีอาการตั้งแต่ เห็นขอบซิลิโคน ซิลิโคนเอียง จนถึงจมูกหดสั้นลงครับ

3. Capsular contracture เกิดกับทุกคนหรือไม่

ข้อควรรู้ข้อที่ 3 Capsular contracture เกิดกับทุกคนหรือไม่ ในการเสริมจมูกจะมีการใช้ทั้งเนื้อเยื่อของคนไข้เองหรือจากผู้บริจาค กับการใช้วัสดุสังเคราะห์ เช่น ซิลิโคน กอร์เท็กซ์ เป็นต้น พบว่าการเกิด capsular contracture จะเกิดในคนที่ใช้ซิลิโคนเสริมจมูกเท่านั้นครับ แล้วในคนที่ใช้ซิลิโคนเสริมจมูกเกิด capsular contracture ทุกคนหรือไม่ คำตอบคือ เกิดขึ้นกับทุกคนครับ

4. ถ้าเกิด capsular contracture แล้ว จำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่

ข้อควรรู้ข้อที่ 4 ถ้าเกิด capsular contracture แล้ว จำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่ ถึงแม้ว่าการเกิด capsular contracture จะเกิดขึ้นกับทุกคนที่เสริมจมูกด้วยซิลิโคน แต่อย่าเพิ่งกังวลไปนะครับ อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่าการเกิด capsular contracture มี 4 ระดับ โดยพบว่า ในระดับที่ 1 และ 2 ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข ส่วนใหญ่จะต้องแก้ไขในกรณีที่เกิดระดับที่ 3 และ 4 ครับ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ามีการเกิดระดับที่ 1 71.7%, ระดับที่ 2 14.5%, ระดับที่ 3 10.8% และระดับที่ 4 3% ครับ แปลว่าคนที่เสริมจมูกด้วยซิลิโคนทุกคนมีโอกาสจะต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดจาก Capsular contracture 13.8% ครับ

คนที่เสริมจมูกด้วยซิลิโคนทุกคนมีโอกาสจะต้องแก้ไขปัญหา

5. ถ้าต้องแก้จะแก้อย่างไร

ข้อควรรู้ข้อที่ 5 ถ้าต้องแก้จะแก้อย่างไร จากงานวิจัยที่กล่าวมา ได้ทำการแก้ไขเฉพาะในระดับที่ 3 และ 4 เท่านั้น

แก้โดยวิธี open ทั้งหมด

ในงานวิจัยแก้โดยวิธี open ทั้งหมด โดยในระดับที่ 3 ใช้วิธีการที่เรียกว่า capsulotomy ซึ่งคือการตัดแคปซูลให้คลายตัวออก และเปลี่ยนซิลิโคนใหม่ ส่วนในระดับที่ 4 ใช้วิธีการที่เรียกว่า capsulectomy ซึ่งคือการเลาะแคปซูลออกจากจมูกให้หมดและยืดปลายจมูกด้วยวิธี septal extension graft หรือการยืดผนังกั้นจมูกด้วยกระดูกอ่อนครับ ถามว่าจำเป็นต้องทำโดยวิธี open แบบในงานวิจัยหรือไม่ ผมเห็นว่าถ้าเป็นระดับที่ 3 การตัดให้แคปซูลคลายตัวและใส่ซิลิโคนใหม่ ก็พอจะทำแบบ close ได้ แต่ถ้าทำแบบ open ก็จะสามารถทำได้ดีกว่าเพราะเห็นแคปซูลชัดกว่าครับ ส่วนในระดับที่ 4 การทำแบบ close ทำได้ยากมากครับ ผมเห็นด้วยกับในงานวิจัยว่าจำเป็นต้องทำแบบ open ครับ เพราะจะต้องเลาะแคปซูลออกให้หมดและต้องยืดปลายจมูกด้วยวิธี septal extension graft หรือที่เรียกว่าการยืดผนังกั้นจมูก ซึ่งไม่สามารถทำแบบ close ได้เลยครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือ 5 ข้อควรรู้เมื่อจมูกเกิดพังผืดหดรั้งหลังการเสริมจมูกด้วยซิลิโคน หรือต้องเรียกให้ถูกก็คือ 5 ข้อควรรู้เมื่อเกิด capsular contracture ครับ

ถ้ามีปัญหาเรื่องของการทำศัลยกรรมทุก ๆเรื่อง สนใจอยากทำศัลยกรรม อยากได้คำปรึกษา ส่งรูปมาให้ผมช่วยประเมินใน line official ที่ @dr.hope ได้นะครับ

ดูคลิป 5 ข้อควรรู้ เมื่อจมูกเกิดพังผืดหดรั้ง

แหล่งอ้างอิง

  • Kim YK, Shin S, Kang NH, Kim JH. Contracted Nose after Silicone Implantation: A New Classification System and Treatment Algorithm. Arch Plast Surg. 2017 Jan;44(1):59-64.